หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นฝันร้ายของชายทุกวัยมาอย่างเนิ่นนาน ทางเว็บไซต์ของเราจึงขอเสนอ สาเหตุการเิกดโรคพร้อมวิธีป้องกันและวิธีรักษา เนื้อหาจะมีอะไรบ้าง เรามาอ่านในหน้านี้ไปพร้อมๆกันเลย
หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรืออวัยวะเพศชายไม่แข็งตัวเต็มที่ หรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จจนเป็นที่พึงพอใจ จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่สร้างความกังวลใจ และบั่นทอนความมั่นใจ ให้กับคุณผู้ชาย จนนำมาสู่การสรรหาวิธีในการต่อกรกับปัญหานี้แทบจะทั่วทุกมุมโลก
ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารสุดพิสดาร สมุนไพรสูตรต่างๆ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์บางอย่างที่เกินกว่าจินตนาการ ซึ่งแท้จริงแล้วภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศก็คือ ภาวะที่ไม่สามารถคงการแข็งตัวขององคชาติตลอดช่วงการมีเพศสัมพันธ์ ส่งผลให้เกิดความไม่พึงพอใจ และภาวะนี้มักเกิดต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 3 เดือนขึ้นไป

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ พบได้บ่อยเพียงใด ?
ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction ; ED) พบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากขึ้นเมื่อคุณผู้ชายมีอายุมากขึ้น โดยจะพบได้ราวร้อยละ 5-10 ในกลุ่มชายอายุต่ำกว่า 40 ปี และพบได้มากขึ้นเป็นร้อยละ 40 ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 70 ปี ส่วนในกลุ่มอายุ 80 ปี จะพบได้ราวร้อยละ 75 เลยทีเดียว
จากการศึกษาพบว่า ภาวะนี้เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
- ปัจจัยภายใน ที่สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ สภาพจิตใจ และความผิดปกติของระบบต่างๆในร่างกาย โดยปัจจัยทางสภาพจิตใจนั้น แต่เดิมถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ สาเหตุเป็นได้ทั้งจากโรคของผู้ป่วยเอง เช่นภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ความเครียดจากหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างคู่ครอง หรือแม้กระทั่งความไม่มั่นใจที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ล้มเหลวมาก่อน แต่ปัจจุบันปัจจัยหลักที่พบได้บ่อย มักเกิดจากความผิดปกติจากระบบต่างๆในร่างกาย เช่น ตัวองคชาติเอง หรือ ระบบเส้นเลือด ระบบประสาท และฮอร์โมน เป็นต้น
- ปัจจัยภายนอก ก็เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยไม่แพ้กัน เช่น ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวขององคชาติ รวมไปถึงลักษณะการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เป็นต้น
จะรู้ได้อย่างไรว่าหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ?
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยหรือคู่ครองก็มักรับรู้ถึงภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้เองอยู่แล้ว แต่การพบแพทย์เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกายก็จะช่วยให้ทราบหาสาเหตุที่ตรงจุดมากกว่า โดยแพทย์จะซักถามความรุนแรง โรคประจำตัว ยาที่ใช้ ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน ตรวจร่างกายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่นการตรวจหาระดับฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) ในกรณีผู้ป่วยที่สงสัยภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ เป็นต้น
รักษาได้…หลากหลายวิธี
การรักษาภาวะนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยและความเห็นของคู่สมรสเป็นหลัก ดังนั้นก่อนการรักษา แพทย์จะต้องประเมินสุขภาพในองค์รวม โดยเฉพาะภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เพื่อพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้การรักษาเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการรักษาโดยไม่ใช้ยา การใช้ยา ซึ่งแบ่งได้เป็นยารับประทาน ยาฉีด ยาสอด และสุดท้ายคือการผ่าตัด ปัจจุบันยังมีอีกหนึ่งการรักษาทางเลือกเป็นการฟื้นฟูโดยไม่ใช้ยาอีกด้วย
โดยส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดยาที่ส่งผลต่อการแข็งตัวขององคชาติ ลดน้ำหนักตัว ออกกำลังกาย หยุดบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียด ร่วมกับการใช้ยารับประทานซึ่งปัจจุบันถือเป็นการรักษาหลักสำหรับภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยยาจะออกฤทธิ์ในการขยายเส้นเลือดเพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงองคชาติมากขึ้น เปรียบเสมือนการเปิดไหล่ทางของถนนเส้นเดิมจึงสามารถลำเลียงรถไปถึงจุดหมายได้มากขึ้น
การแข็งตัวจึงดีขึ้น แต่การใช้ยาก็มีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ การแข็งตัวจึงยังขาดความเป็นธรรมชาติ ต้องพึ่งยา ต้องรอเวลาในการออกฤทธิ์ และประสิทธิภาพของยายังขึ้นกับสภาพเส้นเลือดของผู้ป่วยว่ายังดีอยู่หรือไม่เพียงใด เปรียบได้กับแม้เปิดไหล่ทางแต่หากถนนยังเป็นหลุมบ่อ การจราจรย่อมไม่สามารถลำเลียงได้เร็วอย่างที่คาดหวัง นั่นเอง
ถ้าทานยาแล้วไม่ได้ผล หรือไม่อยากทานยาล่ะ ?
ในกรณีที่องคชาติไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา หรือผู้ป่วยไม่อยากทานยา ก็สามารถใช้วิธีการรักษาเฉพาะที่ได้ เช่น การใช้กระบอกสุญญากาศ การใช้ยาฉีดเข้าองคชาติโดยตรง และการใช้ยาสอดในท่อปัสสาวะ ซึ่งยาทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นการรักษาที่มีมาก่อนยารับประทาน ทั้งยาฉีดและยาสอดล้วนออกฤทธิ์ขยายเส้นเลือดเช่นเดียวกัน แต่การใช้ที่ยุ่งยาก และโอกาสเกิดผลข้างเคียงมากกว่า
จึงทำให้ยารับประทานได้รับความนิยมมากกว่าในปัจจุบัน แต่หากการใช้การรักษาเฉพาะที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ของผู้ป่วยได้ การรักษาในขั้นตอนต่อไป ก็คือ การผ่าตัดฝังแกนในองคชาติ ซึ่งสามารถยืนยันผลสำเร็จในเรื่องการแข็งตัวขององคชาติได้ แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย และความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมชาติ
สามารถรักษาที่ต้นเหตุได้ไหม ?
หลากหลายวิธีการรักษาที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ส่วนการรักษาที่ต้นเหตุในปัจจุบันมี 2 วิธี ได้แก่ การรักษาด้วยฮอร์โมนเพศชายทดแทน ในกรณีปัญหาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดจากฮอร์โมนเพศต่ำ และ การใช้คลื่นกระแทกความถี่ต่ำ (Low intensity shock wave therapy)
คลื่นกระแทกความถี่ต่ำ คืออะไร ?
การใช้คลื่นกระแทก (shock wave) เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ในวงการแพทย์มานาน เช่น การสลายนิ่วในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในท่อน้ำดี รวมไปถึงการใช้คลื่นกระแทกสำหรับการทำกายภาพบำบัด ส่วนการใช้คลื่นกระแทกความถี่ต่ำสำหรับการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศนั้น มีหลักการคือทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณองคชาติเกิดการบาดเจ็บในระดับเซลล์ (Microinjury) กระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองด้วยการสร้างเส้นเลือดใหม่เพื่อซ่อมแซมการบาดเจ็บดังกล่าว ส่งผลให้มีเลือดมาเลี้ยงองคชาติเพิ่มมากขึ้น
การรักษาแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ไม่เจ็บมาก และไม่จำเป็นต้องพักในโรงพยาบาล แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็มีข้อจำกัด โดยจะใช้รักษาได้ในผู้ที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่ไม่รุนแรงมากเท่านั้น ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะเห็นผลการรักษา ค่าใช้จ่ายสูงกว่ายารับประทาน
และต้องทำซ้ำเป็นระยะๆ แต่ความแตกต่างคือ เส้นเลือดที่สร้างใหม่นั้นเปรียบได้กับการสร้างถนนสายใหม่คู่ขนานไปกับถนนเดิม เนื้อเยื่อจึงได้รับเลือดมากขึ้นตลอดเวลา นับเป็นการฟื้นฟูเนื้อเยื่อบริเวณองคชาติได้ในระยะยาว การแข็งตัวจึงมีลักษณะที่ใกล้เคียงธรรมชาติเมื่อเทียบกับการรักษาในแบบอื่น
ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธีไหน ก็ล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันคือการคืนความมั่นใจให้กับคุณผู้ชาย สร้างความพึงพอใจในชีวิตคู่ ดังนั้นภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลอย่างที่คิด ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสฟื้นฟูให้กลับมามีประสิทธิภาพใกล้เคียงธรรมชาติได้