โรคต่อมลูกหมากโต ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติ มักพบในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป และโดยเฉพาะในผู้ชายสูงวัยที่มีอายุ 80 ปี ดั้งนั้นทางเว็บของเราจึงอยากมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคของคุณผู้ชายนี้ รู้เร็วรู้ทันรักษาให้หายได้ จะมีข้อมูลอะไรบ้างนั้นเรามาอ่านกันได้เลย

โรคต่อมลูกหมากโต
ชาวตะวันตกมักเปรียบเทียบขนาดปกติของต่อมลูกหมากว่าเท่ากับขนาดของผลวอลนัท (walnut-size) ซึ่งต่อมลูกหมากจะอยู่ตรงบริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ
ต่อมลูกหมากมีหน้าที่สร้างสารที่เป็นของเหลวประมาณ 30% ของน้ำอสุจิ โรคต่อมลูกหมากโต (BPH – Benign Prostatic Hyperplasia) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติ มักพบในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป และโดยเฉพาะในผู้ชายสูงวัยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปนั้นพบมากถึง 80%
ด้วยเหตุที่ต่อมลูกหมากจะห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนต้นไว้ ดังนั้นเมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นก็อาจกดทับท่อปัสสาวะให้ตีบเล็กลง ส่งผลให้คนไข้มีอาการปัสสาวะติดขัด นอกจากนี้ต่อมลูกหมากโต อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผนังกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะหนาขึ้น เนื่องจากต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อขับน้ำปัสสาวะให้ผ่านท่อแคบๆ
และเมื่อผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้นก็จะส่งผลต่อความสามารถในการกักเก็บน้ำปัสสาวะ คนไข้จึงต้องปัสสาวะบ่อย และอาจได้รับการกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะขึ้นมาอย่างกะทันหันได้
โรคต่อมลูกหมากโตสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น
การเกิดโรคต่อมลูกหมากโตนั้นมักจะสัมพันธ์กับอายุ มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า 50% ของผู้ชายที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตนั้นมีอายุราว 60 ปีขึ้นไป แม้ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงชัดว่าโรคต่อมลูกหมากโตจะนำไปสู่โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่อาการของต่อมลูกหมากโตกับมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นมีความคล้ายกัน และเป็นไปได้ว่าภาวะต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากอาจเกิดขึ้นในขณะเดียวกันได้
7 สัญญาณบอกโรคที่เฝ้าระวัง
โรคต่อมลูกหมากโต แสดงอาการเบื้องต้นได้หลายอย่าง ดังนั้น เมื่อพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาให้ตรงจุด
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือต้องเบ่งปัสสาวะจนกว่าจะออก
- ปวดปัสสาวะรุนแรงมาก
- ปัสสาวะติดขัด
- ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน
- ปัสสาวะไม่สุด
- ปัสสาวะไม่พุ่ง สะดุดเป็นช่วงๆ มีปัสสาวะหยดเมื่อใกล้จะสุด
วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต
- แพทย์จะทำการซักประวัติ เพื่อตรวจสอบอาการที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
- ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจวัดความแรงของสายปัสสาวะ
- อัลตราซาวนด์ขนาดต่อมลูกหมาก
- ตรวจคลำต่อมลูกหมากผ่านทางท่อทวารหนัก ดีอาร์อี (Digital Rectal Examination) เพื่อดูความผิดปกติ
- แพทย์วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมและครอบคลุมให้ชัดเจนถูกต้อง
ต่อมลูกหมากโต รักษาอย่างไรได้บ้าง
โรคต่อมลูกหมากโตสามารถรักษาให้หายได้ วิธีรักษาแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือการรักษาด้วยยา และการผ่าตัด ได้แก่
- รักษาด้วยยา ช่วยคลายการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมาก ยาที่ใช้จะเป็นประเภทยาต้านระบบประสาทอัลฟ่า (Alpha Blocker) ซึ่งจะช่วยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย 5 อัลฟ่ารีดักเทส (DHT) และมีผลกับขนาดของต่อมลูกหมาก โดยแพทย์จะรักษาตามอาการเป็นหลัก
- ผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากออกด้วยการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง มีด้วยกัน 2 แบบ คือ
- รักษาทางศัลยกรรมผ่านกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ TURP (Transurethral Resection of the Prostate) ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบหรือยาชาเฉพาะที่ โดยแพทย์จะใส่กล้องขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายท่อเล็กๆ เรียกว่า resectoscope เข้าไปทางอวัยวะเพศ ผ่านท่อปัสสาวะ และขึ้นไปยังต่อมลูกหมาก จากนั้นแพทย์จะใช้ห่วงไฟฟ้าที่ปลายกล้องตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่มีการอุดตันออกมา แล้วจึงปิดเส้นเลือดกลับดังเดิม โดยล้างทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวเพื่อล้างเอาเนื้อเยื่อออกให้หมด การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 90 นาที หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3 วัน และจะต้องใส่สายสวนปัสสาวะไว้
- การผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากโตผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ TURPV (Transurethral Vaporized – Resection of the Prostate) หรือ Plasma Kinetic (PK) เป็นการใช้เครื่องตัดและจี้ด้วยระบบไฟฟ้าประจุคู่ไบโพลาร์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ส่วนที่ถูกตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าไม่ให้ไหม้เกรียมมากเกินไป มีระบบช่วยระเหิดเนื้อเยื้อคล้ายคลึงกับการใช้แสงเลเซอร์คือ แวโพไลเซชัน (Vaporization)
- ผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์กรีนไลท์ PVP (Green Light PVP : Photo – Selective Vaporization of Prostate) เป็นนวัตกรรมการผ่าตัดต่อมลูกหมากโต โดยใช้หลักการคือ สอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะเหมือนการผ่าตัดส่องกล้อง แต่เปลี่ยนจากใช้ที่ขูดเป็นแสงเลเซอร์พลังงานสูงยิงไปในตำแหน่งที่มีภาวะอุดกั้นในต่อมลูกหมาก แสงเลเซอร์จะทำให้เนื้อเยื่อที่กีดขวางทางเดินปัสสาวะค่อยๆ ระเหิดหายไป วิธีนี้ผู้ป่วยจะเสียเลือดน้อย เหมาะกับผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถหยุดยาละลายลิ่มเลือด
- รักษาด้วยการใช้แสงเลเซอร์ทูเลียม (Thulium Laser Vaporesection of the Prostate) ได้ผลดีเทียบเท่าวิธี PVP แต่ต่างกันตรงที่สามารถตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นทางเดินปัสสาวะให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อเก็บไว้ใช้ในการตรวจวินิจฉัยครั้งต่อไปในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก วิธีนี้ยังนำมาใช้รักษาภาวะอาการท่อปัสสาวะตีบจากพังผืดได้ด้วย
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหากไม่รีบรักษา
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ปัสสาวะเป็นเลือด เพราะต่อมลูกหมากบวมโต
- ไตเสื่อม ไตวาย
- ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ไตเสียหาย เนื่องจากมีปัสสาวะไหลย้อนกลับ
- ไม่สามารถปัสสาวะได้
ดังนั้นผู้ชายทุกคน ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติขณะถ่ายปัสสาวะแล้ว และเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจระบบทางเดินปัสสาวะกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาความเสี่ยง ป้องกัน และหากพบโรคจะได้ทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงของโรค รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนตามมาภายหลัง